วันศุกร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกจิปาถะ : ฟ้าฝน กับ ผู้คน

มีใครชอบฝนตกบ้าง

ผมคนนึงละที่ไม่ชอบ ตกทีไร ต่อให้ตกเบาขนาดไหนก็ไม่ชอบ เพราะไปไหนไม่ได้ หรือไปได้แบบทุลักทุเลหน่อยๆ แต่ถ้ายิ่งถ้าตกหนักแบบไม่ลืมหูลืมตานี่ถึงขั้นแหง็กเลย

แต่ฝนตกก็ดีอย่าง เราจะได้เห็นนิสัยคนได้ง่ายขึ้น

ถ้าใครเป็นคนใจร้อน ก็จะเห็นได้จากเวลาขับรถ ฝนตกน้ำนองอย่างไรก็ไม่สน ฉันจะไป วิ่งแหวกน้ำกระจาย คนเดินถนนก็รับเคราะห์ไป

ถ้าเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ก็จะเห็นได้จากเวลาเดินแล้วแบ่งปันร่มให้หรือให้มาอยู่ในร่มคันเดียวกัน 

ถ้าเป็นคนเห็นแก่ตัว ต่อให้เขามีร่มคันใหญ่แค่ไหน เขาก็ใช้คนเดียว และเวลาเดินก็จะไม่สนใจใคร ร่มชนร่มคนอื่นร่ำไป

ถ้าเป็นคนประหยัด(หรืออาจถึงขั้นขี้งก) จะเห็นสภาพร่มที่แม้จะหักจะงอยังไงก็ยังใช้อยู่

ถ้าเป็นคนขี้เกรงใจ ก็อาจจะหลบจากคนอื่นไปเดินห่างๆ กลัวน้ำฝนจากร่มจะกระเด็นไปตกใส่คนข้างๆ


อันนี้เป็นตัวอย่างบางส่วนเท่านั้น

แล้วคุณล่ะ ลองมองรอบๆตัวคุณเวลาฝนตกสิ แล้วคุณจะเห็น

ว่าคนๆนั้นเป็นคนเช่นไร


ที่มาภาพ : http://www.komchadluek.net/media/img/size1/2009/09/09/kaee8da69d8dfjdb75k6g.jpg

วันพฤหัสบดีที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกความสงสัย : Why ห้ามถ่าย

สำหรับเราๆท่านๆผู้ชื่นชอบการถ่ายรูป แม้คุณจะถ่ายรูปมามากเท่าไหร่
ศัตรูตัวฉกาจของนักถ่ายรูป นั่นก็คือ
"การห้ามถ่ายรูป"

ไม่ว่าจะมาในรูปของป้ายเตือน คำพูดจากคนที่นั่นตาม

แต่เมื่อเผชิญเข้าไป ต่อให้คุณมีกล้องที่ดีขนาดไหนก็หมดสิทธิ์(ยกเว้นคุณจะใช้วิธีหาคนยืนบัง หรือซูมจากระยะไกล เอ๊ะ นี่เราชี้ช่องอะไรรึเปล่านี่)

ส่วนเหตุผลที่ห้ามถ่ายก็หลากหลาย
โดยส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของความปลอดภัย กลัวจะสูญหาย ถูกขโมย
แต่นอกจากนี้ก็ยังมีเหตุผลที่ออกแนวไร้สาระหรือชวนให้เกิดเครื่องหมาย ??? ขึ้นในหัวเหมือนกัน
เช่น ห้ามถ่ายภาพจิตรกรรมเพราะผู้ใหญ่สั่งห้ามไว้ หรือห้ามถ่ายจิตรกรรมเพราะกลัวภาพจะเสียหาย

คือ เท่าที่พอรู้ จิตรกรรมฝาผนัง ถ้าไม่ไปจับตรงๆ หรือใช้แฟลชยัดใส่ในระยะใกล้ๆมันก็ไม่ได้สึกหรอหรอกครับผม

หรืออย่างบางที่ เคยถ่ายได้ วันดีคืนดีจู่ๆก็ห้ามถ่ายซะอย่างนั้น 
คือนอกจากจะ "เงิบ" แล้ว ยัง "เสียความรู้สึก" ด้วย

เพราะด้วยสถานภาพปัจจุบันที่เป็นนักศึกษาต้องทำรายงาน บางครั้งต้องเดินทางไปถ่ายรูปแบบฉุกละหุก จะมาทำหนังสือแจ้งเรื่องบางทีก็ไม่ทันส่งงาน ก็มาตัวเปล่า พอเจอแบบนี้เข้าก็เสียเซลฟ์เหมือนกัน

แต่ก็โอเค ผมถือว่ากฎต้องเป็นกฎ การแหกกฎเป็นเรื่องไม่ดี(แต่บางครั้งก็แหกนะ เพื่อประโยชน์ของงานตัวเอง ดูแอบเลวนิดๆ) แต่บางครั้งก็รู้สึกว่า กฎที่มันเข้มงวดเกินไปก็ทำให้อะไรๆมันดูแข็ง มันดูกระด้างไปสักหน่อย 

เพราะถ้าอีกฝ่ายมีเหตุให้ต้องใช้จริงๆ จะอะลุ่มอล่วยบ้าง ก็ไม่น่าจะเสียหายอะไร

หลายคนอาจจะคิดว่า เฮ้ย ดูเห็นแก่ตัวไปไหม ไปถึงก็จะเอาจะถ่ายอย่างเดียวเลยหรือไง

บอกตามตรงว่าในบางครั้งก็จำเป็นต้องเห็นแก่ตัวครับ เพราะข้อมูลบางอย่างบางครั้งไม่ได้ว่าจะเข้าถึงได้ง่ายๆ
และบางครั้งที่ได้รับโอกาสให้เข้าไปถ่ายในสิ่งบางอย่างที่เป็นของหวงหรือของสำคัญ ผมก็มีจรรยาบรรณพอที่จะไม่เผยแพร่ลงไปในสื่อสาธารณะ ไม่ว่าจะเป็น social หรือบางทีแม้แต่คนรู้จักก็ไม่รู้(ผมถือว่าคนเป็นสื่อสาธารณะอย่างหนึ่ง เพราะสามารถนำข้อความไปบอกต่อได้)

แต่เรื่องแบบนี้พูดยากครับ พูดไปเดี๋ยวไม่จบ

นานาจิตตังแล้วกันครับ


ที่มาภาพ : http://www.dmc.tv/images/I-like-English/560808-ep6-1.jpg

วันพุธที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกความสงสัย : ถ่ายทำ Why

"จะถ่ายทำไมเยอะแยะ"

เป็นคำถามที่โดนถามบ่อยมาก เพราะโดยส่วนตัวเป็นคนถ่ายรูปเยอะ(มาก)
วันนี้เจอจังๆกับตัวอีกครั้งตอนไปถ่ายรูปที่วัดภุมรินทร์ราชปักษีที่ฝั่งธน

ถ้าถามว่าทำไมถึงถ่ายเยอะแยะ
ถ้าตอบว่าชอบถ่าย ก็จะโดนหาว่ากวนอวัยวะเบื้องล่างอีก
ก็จะขอตอบตรงๆละกัน
ว่า "ถ่ายรูปไว้ใช้งาน"

ด้วยความที่เป็นคนชอบเที่ยว โดยเฉพาะวัด วัง โบราณสถาน การถ่ายรูปจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้
แม้บางทีจะไปโดยตั้งใจ หรือโดยไม่ตั้งใจ ก็ขอถ่ายไว้ก่อน
เพราะเราไม่รู้ว่า สิ่งที่เราเห็นกับตาตอนนี้จะอยู่กับเราไปอีกเมื่อไหร่ จะถูกบูรณะเมื่อไหร่ จะเพี้ยนไหม จะเปลี่ยนไหม
เลยต้องถ่ายรูปไว้ อย่างน้อยก็นอกจากจะเป็นหลักฐานในความทรงจำว่า ฉันเคยมา ฉันเคยเห็นสภาพนี้กับตาแล้ว
ก็ยังมีหลักฐานภาพถ่ายเพื่อบอกให้รู้ว่า เราเคยเห็นจริงๆ

เพราะส่วนใหญ่รูปที่ถ่าย ไม่ค่อยมีรูปตัวเอง

รู้สึกว่าเป็นคนถ่ายรูปไม่ขึ้น เป็นคนที่ยิ้มแล้วจะดูแปลกๆตลกๆ เวลาถ่ายรูปตัวเองเลยชอบทำหน้านิ่งๆบึ้งๆ ไม่ก็ทำหน้าฮาไปเลย
ช่วงนี้พยายามฝึกยิ้ม ก็ยังรู้สึกว่าตลกอยู่ดี

แต่ส่วนตัวกลับชอบถ่ายรูปคนอยู่พอสมควร 
ไม่ใช่ถ่ายแบบตั้งตัว แต่ออกแนว Candid Camera
รู้สึกว่ามันจะดูเป็นธรรมชาติ เป็นตัวของตัวเอง เป็นภาพในช่วงเวลาที่ผ่านไปได้ในพริบตาเดียวและไม่มีซ้ำสอง แม้ส่วนใหญ่มักจะดูตลกไม่ก็ดูแย่ก็ตาม

แต่หลังจากได้อ่านและได้ฟังคำพูดคำหนึ่งว่า 
"เมื่อไปถึงแหล่ง ขอให้ฟังผมพูดสรุปก่อน และเมื่อฟังประเด็นต่างๆเสร็จแล้วค่อยไปถ่าย จะได้รู้ว่าจะถ่ายอะไร ถ่ายทำไม มีประเด็นอะไรถึงต้องถ่าย ไม่ใช่ถ่ายอย่างเดียว แล้วไม่รู้ว่าจะเอาไปใช้ทำอะไร"

เป็นคำที่มีความหมายกับผมเยอะเลย
เพราะถึงแม้แต่เดิมจะถ่ายแบบมีสาระ มีข้อสังเกต แต่ก็รู้สึกว่าหลายครั้งตัวเองก็เป็นคนถ่ายพร่ำเพรื่อ บางทีถ่ายก็จำไม่ได้ว่าถ่ายอะไร มุมไหน กลับมาที่บ้านแรกๆก็จำได้ ผ่านไปก็ลืมเอง
ยังเจ็บใจตัวเองจนทุกวันนี้เลยว่า ทำไมตอนนั้นไม่ทำอย่างนั้นบ้าง

เดี๋ยวนี้ก่อนจะถ่ายอะไรก็มักจะต้องมองให้ดี มองให้ละเอียดขึ้น ไม่ว่าจะไปกับอาจารย์ กับเพื่อน หรือไปคนเดียว ก็จะต้องดูให้เรียบร้อยก่อน จัดลำดับในหัวให้เรียบร้อยก่อนจะถ่าย

แล้วคุณละ เวลาถ่ายรูป คุณถ่ายแบบไหน

และลองถามตัวเองให้ชัดๆว่า

ถ่ายทำไม
อาวุธประจำตัวชิ้นปัจจุบัน พร้อมเลนส์เปลี่ยนอีกหนึ่งตัว แบตอีกสอง เมมอีกสาม

วันอาทิตย์ที่ 23 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกย้อนหลัง ๒ วัน : สำรวจวัดนนท์-กทม. ภาค ๒ สำรวจเมืองกรุง


หลังจากเสร็จภารกิจจากวัดซองพลู ก็คุยกันว่าจะไปไหนกันต่อ โดยมีตัวเลือกสองที่ คือ วัดดุสิดาราม กับ วัดบางยี่ขัน

ก่อนหวยจะไปลงที่วัดบางยี่ขัน เพราะอยากไปดูธรรมาสน์ที่กำลังเป็นข่าวกันในหนังสือพิมพ์ว่าเพิ่งเจอแล้วก็ไม่ได้รับการดูแลดีเท่าที่ควร

พอเดินทางไปถึง ก็เดินไปที่กุฏิเจ้าอาวาสเพื่อยื่นหนังสือ พี่ยีนส์เลยถือโอกาสคุยกันท่านไปด้วย ด้วยความที่รู้จักกันอยู่ก่อน เพราะเคยมาติดต่อเพื่อเข้าไปดูในอุโบสถมาก่อน แล้วก็ถือโอกาสติดต่อท่านเจ้าอาวาสเพื่อสัมภาษณ์ออกรายการโทรทัศน์ไปด้วยเลยในตัว

หลังจากคุยไปสักพัก ท่านก็พาไปดูยอดและบันไดธรรมาสน์ที่นำมาเก็บไว้ด้านใน ซึ่งยังอยู่ในสภาพที่โทรมตามอายุ และยังมีชิ้นส่วนอื่นๆเก็บไว้ในถุง คล้ายถุงข้าวสารครึ่งกระสอบที่บ้าน

ส่วนยอดธรรมาสน์ที่เก็บเอาไว้

หลังจากคุยกันสักพัก ท่านก็บ่นว่าตอนมีอาจารย์จากศิลปากรมาก็เอาแต่บ่นๆว่าๆ ทำไมไม่ถามท่านสักหน่อยก่อนจะว่าอะไร เพราะชิ้นนี้ท่านก็เพิ่งขนลงมาไว้ข้างล่าง เพราะแต่เดิมเก็บไว้ข้างบน 

เนื่องจากแต่เดิมธรรมาสน์นี้เก็บไว้ในศาลาการเปรียญหลังเดิมซึ่งรื้อไปแล้ว 

ท่านยังบ่นถึงข่าวที่ออกไปว่าทำให้ท่านเสียหาย เพราะในข่าวออกไปแนวที่ทำให้ท่านเสียหาย 

หลังจากถ่ายรูปกันสักพัก ท่านก็พาไปดูส่วนองค์ธรรมาสน์


 ท่านเจ้าอาวาสกับธรรมาสน์

ธรรมาสน์วัดบางยี่ขันส่วนองค์ เก็บไว้ใต้หอระฆัง สีฟ้าๆทางมุมซ้ายล่างคือเรือพายของวัด เก็บไว้ที่เดียวกัน

สิ่งที่เห็นจากส่วนที่เหลือคือ แม้จะโทรม แต่ชิ้นส่วนยังเหลืออยู่ครบ ถ้ารวมกับที่เก็บไว้ในกุฏิน่าจะต่อเป็นชิ้นสมบูรณ์ได้เหมือนต่อเลโก้ เพราะมีทั้งส่วนที่ยังติดที่เดิม และช่องสำหรับเสียบ ถ้ามีงบสักหน่อยน่าจะบูรณะให้สมบูรณ์เต็มองค์ได้

ท่านเจ้าอาวาสเล่าอีกว่า ตอนน้ำท่วมใหญ่ครั้งล่าสุด ให้พระเณรช่วยกันขนมาเก็บกันอย่างทุลักทุเล ข้างๆธรรมาสน์ยังมีเรือที่ใช้ตอนน้ำท่วมอยู่ด้วย


นอกจากธรรมาสน์ท่านยังได้ชี้ให้ดูหน้าบันเดิมของศาลาการเปรียญที่ถอดมาไว้กับศาลาอีกหลัง



หน้าบันเดิมของศาลากาเปรียญ


โดยความเห็นส่วนตัวเกี่ยวกับเรื่องธรรมาสน์วัดบางยี่ขันในแง่ของการเก็บรักษาก็อาจจะไม่ได้ดีมาก อาจเพราะยังไม่มีที่เก็บที่เหมาะสม และสภาพยังไม่พร้อมใช้งานก็ได้ 

ส่วนในเรื่องความข้างหนึ่งจากข่าวที่ออกไปกับความอีกข้างหนึ่งจากปากท่านเจ้าอาวาส บอกตามตรงว่าไม่รู้จะเชื่อข้างไหนเหมือนกัน เนื่องจากข่าวในบางครั้งต้องเขียนให้ดูน่าติดตาม
ส่วนท่านเจ้าอาวาสผมก็ไม่ได้รู้จักเป็นการส่วนตัว ถึงจะฟังอีกปากจากพี่ยีนส์ก็ยังเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง

แต่ถ้ามองในมุมของพระ ก็เห็นใจท่าน เพราะเท่าที่อ่านในข่าว ท่านโดนโจมตีเละเหมือนกัน 

จนกว่าความจริงจะเป็นที่ประจักษ์ ก็รอดูกันต่อไปสำหรับเรื่องนี้ ผมไม่ขอคอมเมนต์ใดๆแล้วกัน

หลังจากลาท่านเจ้าอาวาสเพื่อไปชมอุโบสถต่อ ก็เดินข้ามมาอีกฝั่ง มีพี่วินมอเตอร์ไซค์ถือกุญแจเปิดรอแล้ว ให้เราเข้าไปได้ เสร็จแล้วให้เรียกเขาด้วย

วัดแห่งนี้มีประวัติว่าสร้างมาแล้วตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย และมีการปรับปรุงในสมัยรัตนโกสินทร์ช่วงรัชกาลที่ ๓

อุโบสถ วัดบางยี่ขัน

เมื่อเข้ามาด้านใน สิ่งแรกที่เห็นคือพระพุทธรุปจำนวนมาก ทั้งที่อยู่ฐานชุกชี(ฐานพระพุทธรูปหลัก) และรอบๆฐานทั้งสามด้าน เว้นด้านหน้าเป็นอาสน์พระ ซึ่งตามปกติจะให้เฉพาะพระขึ้นไปนั่งเท่านั้น

แต่ครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีพระอยู่ที่นี่ จึงขอถือวิสาสะขึ้นไปยืนเพื่อประโยชน์ในการถ่ายรูปเก็บข้อมูล

วัดนี้เข้ามาข้างในเป็นครั้งที่สองแล้ว แต่ก็ยังมีมุมที่ยังให้ดูอีกมากมาย
หมู่พระประธาน(องค์ประธานโดนบังอยู่ สังเกตดูพระรัศมีด้านหลังสุด นั่นคือพระประธานของวัด)

จิตรกรรมที่วัดแห่งนี้เขียนภาพทศชาติชาดก(คือเรื่องราวสิบชาติสุดท้ายของพระพุทธเจ้า) แต่ไม่ครบ ขาดเวสสันดรชาดกไปหนึ่งเรื่อง 

แต่ Super Highlight ที่วัดแห่งนี้ คือภาพมโหสถชาดก ซึ่งที่นี่ให้ความสำคัญมาก มากขนาดนี้ใช้พื้นที่หน้าพระประธานยกให้ชาดกตอนนี้ แม้น้ำจะกัดกร่อนภาพส่วนล่างจนลบเลือนไปหมดสิ้น เหลือแต่ท่อนบน

แต่ภาพด้านบนที่เหลือคือความอลังการ ฉากมโหสถห้ามทัพ มีมโหสถบัณฑิตยืนบนเชิงเทินกำแพง ทัพของพระเจ้าจุลนีพรหมทัตกำลังยกมา เต็มไปด้วยชาวต่างชาติต่างภาษาในกองทัพ 

ยิ่งกว่าฉากเหล่านี้ ในผนังนี้มีภาพต้นเงาะ ซึ่งเป็นภาพบันทึกประวัติศาสตร์สำคัญ เนื่องจากในย่านนี้เคยมีผลไม้มีชื่อ คือ "เงาะบางยี่ขัน" ซึ่งเดี๋ยวนี้ไม่มีแล้วอยู่


มโหสถชาดก วัดบางยี่ขัน ยาวใหญ่ ใหญ่มาก ละเอียดมาก

เงาะบางยี่ขัน(ลูกแดงๆมีขนนั่นแหละ)

มีหมดทั้งฝรั่ง จีน แขก

อีกหนึ่งภาพเอกของที่นี่คือมารผจญ เขียนอยู่เหนือภาพมโหสถเมื่อกี้ รายละเอียดเยอะมาก ยิบมาก พระแม่ธรณีก็งามมากๆด้วยเช่นกัน

หนึ่งในมารผจญที่ละเอียดยิบที่สุด ทั้งในเรื่องรายละเอียดปลีกย่อย ปริมาณภาพบุคคล

แต่นอกจากภาพหลักๆเหล่านี้ ยังมีภาพสนุกๆมีหลายภาพ อาทิเช่น เทวดาเหาะ แต่ทำเป็นรูปคนจีน ซึ่งดูไม่เข้าพวกอย่างแรง
และยังมีภาพที่เรียกว่า ภาพเชิงสังวาส(ภาพการร่วมเพศ) แต่หากันเองนะครับ ภาพพวกนี้ไม่ได้อยู่ในส่วนเนื้อเรื่องหลัก(เรียกว่า ภาพกาก) จึงมักวาดเล็กๆ แทรกๆอยู่ในภาพหลัก

อะไรเอ่ยไม่เข้าพวก

ไม่มีคำบรรยายใดๆ ดูกันเอาเอง

แม้ทั้งวันจะได้ไปแค่ ๓ วัด แต่ก็เป็น ๓ วัดที่คุ้มค่า คนเราเดี๋ยวนี้เที่ยววัดกันในลักษณะทัวร์ทำบุญ เข้าวัด ดูพระ ไหว้พระ กราบพระ ถ่ายรูปตัวเองกับสถานที่หน่อย แล้วก็กลับ

อยากให้ทุกๆคนลองเที่ยวอีกสักมุมหนึ่ง อยู่กับวัดไม่กี่วัด แต่อยู่ให้นาน ซึมซับเอาเรื่องราวที่สถานที่เหล่านั้นกำลังกระซิบบอกเรา เราอาจจะได้มุมมองใหม่ๆเพิ่มขึ้นก็ได้

ใครจะรู้

ขอขอบคุณพี่ยีนส์ ผู้ชักชวนและชี้ชวนให้ดูของน่าสนใจมากมายครับ

วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกย้อนหลัง ๒ วัน : สำรวจวัดนนท์-กทม. ภาค ๑ สำรวจเมืองนนท์

สองวันก่อน(วันที่ ๒๐ พ.ย.)
ได้ไปสำรวจวัดเพื่อเตรียมสำหรับจัดทริปผนังเก่าเล่าเรื่องกับพี่ยีนส์ เจ้าของทริป

หลังจากไปรวมตัวกับพี่ยีนส์แล้ว เราก็ออกรถไปวัดโพธิ์บางโอ ซึ่งตั้งอยู่ที่นนทบุรี
วัดแห่งนี้ตามประวัติระบุว่าเป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่มีการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ ดังนั้นลักษณะศิลปกรรมส่วนใหญ่ในวัดจึงอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

อุโบสถวัดโพธิ์บางโอ


พอไปถึงก็แวะไปหาท่านเจ้าอาวาสเพื่อขอเข้าไปชมในอุโบสถ
ต้องบอกก่อนว่า การเที่ยวชมวัดที่ยังมีการใช้งาน คือไม่ใช่วัดร้าง จะมีปัญหาที่ส่วนใหญ่น่าจะเจอกันคือ เข้าไปดูข้างในไม่ได้เพราะปิด เลยต้องไปขอกุญแจจากพระ ซึ่งจะได้เข้าไม่ได้เข้าก็มีปัจจัยเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น
พระที่ถือกุญแจไม่อยู่(เจอประจำ)
ทำหนังสือมารึเปล่า(เจอประปราย มักเป็นกับวัดใหญ่หรือวัดดัง)
พระท่านจำวัดอยู่(เจอได้พอสมควรในกรณีที่ไปหลังเพล)
ข้างในมันรกยังไม่ได้จัด(เจอในกรณีหลังจัดงาน เช่น สวดมนต์ข้ามปี หรือ วิหารเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว)
หาพระไม่เจอ(อันนี้จะเซ็งมาก หาใครไม่เจอ)

แต่มาครั้งนี้ไม่มีปัญหา เพราะพี่ยีนส์มีหนังสือทำเรื่องมา แต่ก็ต้องหาพระกันเหมือนกัน เพราะเจ้าอาวาสไม่อยู่ เลยต้องไปหาพระที่ถือกุญแจอีกดอก ซึ่งเดินเลยไปด้วยเพราะท่านจำวัดอยู่(มีพระไปช่วยหาด้วย ท่านบอกหมาที่นี่มันดุ แต่ก็ไม่เจอเห่านะ)
กรณีของวัดนี้ดีมากในความรู้สึกผม คือ มีพระถือกุญแจมากกว่า ๑ รูป
คือก็เข้าใจว่าท่านกลัวของหาย แต่มันจะลำบากพวกคนที่มาศึกษาเวลามาเจอกรณีพระที่ถือกุญแจไม่อยู่

พอท่านมาเปิด ท่านก็บอกว่าเสร็จแล้วก็ปิดไฟปิดประตูด้วย แล้วเราก็เข้าไป
ภายในอุโบสถ 

การมาที่วัดแห่งนี้ในครั้งนี้ นอกจากจะมาเพื่อเซอเวย์สถานที่แล้ว ผมยังมีจุดประสงค์ส่วนตัว คือการมาถ่ายรูปภาพจับบนบี้านประตูหน้าต่างที่วัดแห่งนี้ด้วย
ภาพจับ มีความหมายถึงภาพตัวละครสองตัวในท่ารบ โดยเป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์แทบทั้งสิ้น โดยจะอยู่ในท่านาฏลักษณ์ คือท่าที่ใช้ในการแสดงโขน(ฉากเช่นนี้ยังสามารถพบเห็นได้ในการแสดงโขนในฉากรบเช่นกัน)
ภาพจับนี้ ส่วนใหญ่จะพบบนหนังใหญ่ ในขณะที่ตามวัดวาอาราม พบไม่มาก และมักจะประดับไว้ตามบานประตูหน้าต่าง บานแผละ(ผนังด้านใน จะเห็นก็ต่อเมื่อปิดหน้าต่าง) และที่วัดแห่งนี้ก็มีเช่นกัน
บานหน้าต่างแสดงภาพจับ จะเห็นหนุมานกำลังรบกันยักษ์ และพระลักษณ์รบกับยักษ์(เรียกยักษ์เพราะไม่รู้ชื่อจริงๆ ใส่ผิดเดี๋ยวจะโดนว่า เลยใส่ว่าเป็นยักษ์ไปละกัน)

ฝาผนังของวัดนี้ที่ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องพระมาลัยและพุทธประวัติ(ถ่ายยากมาก เลยไม่ได้ลงให้ชม) ส่วนผนังด้านหน้าเขียนพุทธประวัติ ผนังด้านซ้ายและขวาของพระประธานเขียนภาพปริศนาธรรม ซึ่งเป็นหลักฐานของภาพปริศนาธรรมที่เก่าแก่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยแสดงภาพง่ายๆตรงไปตรงมา มีการระบุจารึกไว้ใต้ภาพบางส่วนด้วย เลยดูได้ไม่ยาก
แต่บางส่วนก็ยาก เพราะใช้คำศัพท์พุทธที่ไม่คุ้นหูคุ้นตา 

พระพุทธเจ้ากับรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี เห็นมณฑปบนภูเขาในจิตรกรรมสามารถคิดไปก่อนได้เลยว่าเป็นที่นี่

ภาพปริศนาธรรม สตรีกำลังวิ่งหนี โลโภ โทโส โมโห(เขียนกันง่ายๆแบบนี้แหละครับ)
จริงๆ มีภาพอื่น แต่อันนี้ดูง่ายดีเลยเอามาให้ดู บางภาพมีจารึกเหมือนจะหมายถึงระดับฌาน ซึ่งไม่เข้าใจจริงๆ

ผนังเหนือช่องหน้าต่างประตูเขียนลายดอกไม้ร่วง ซึ่งหมายถึงดอกมณฑารพ ดอกไม้สวรรค์ที๋โปรยปรายในวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ส่วนบริเวณเหนือขึ้นไปชิดกับหลังคามีภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร หรือเทวดาชั้นรองๆ กำลังเหาะมานมัสการพระพุทธเจ้า บางภาพก็เหมือนจะสู้กัน ดูตลกดี 
วิธีดูภาพด้านบนมีสองวิธี หนึ่งใช้กล้องพลังสูงซูมดู สองใช้กล้องส่องทางไกลดู(อย่าคิดว่ากล้องส่องทางไกลจะไม่จำเป็นในการดูจิตรกรรมนะครัช ภาพบางภาพมันสูงเอาโล่ไปเลย)

ผนังเหนือช่องประตูหน้งต่างเขียนดอกมณฑารพ นักสิทธิ์ที่ว่าอยู่บนแถบสีขาวด้านบน(ไม่เห็นล่ะสิ เพราะผมไม่ได้ซูมมาไงล่ะ อิอิ)
ข้างล่างจะเห็นกรอบภาพสองกรอบ กรอบล่างที่เป็นสีขาว เพราะภาพจริงไหม้ไปหมดแล้ว ส่วนกรอบบนเป็นภาพสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่

จิตรกรรมที่นี่เคยผ่านมรสุมชีวิตมาครั้งนึง เพราะเคยมีไฟไหม้ใหญ่ไปครั้งหนึ่ง  ทำให้ภาพได้รับความเสียหายอย่างร้ายกาจ บางภาพถึงกับดูรายละเอียดไม่ออกเลย
ที่น่าเสียดายกว่าคือ พี่ียีน์ส์เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเคยมีภาพหลังกระจก คือภาพที่เขียนหลังกระจกแผ่นหนึ่งแล้วเอากระจกอีกแผ่นมาติดก่อนนำไปใส่กรอบ ซึ่งที่นี่เคยมีภาพที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "โมนาลิซาเมืองไทย" แต่ปัจจุบันได้ไหม้ไปหมดแล้ว โชคดีที่พี่ยีนส์ได้เคยถ่ายไว้ และได้ขยายไปใส่กรอบมาถวายวัดด้วย น่ายินดีจริงๆ

บานหน้าต่างด้านนอก มีลายรดน้ำซึ่งลบเลือนไปตามกาล


พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เขาว่าศักดิ์สิทธิ์หนักหนา

ออกจากอุโบสถก็มาดูข้างนอกบ้าง ประตูหน้าต่างส่วนใหญ่ผ่านการบูรณะไปแล้ว(ที่นี่ถูกดีดขึ้น) เหลือของเดิมอยู่ไม่เท่าไหร่ แถมที่เหลือก็ยังลบเลือนอย่างมาก จึงบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน
และนอกโบสถ์ยังมีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ที่ว่ากันว่า ศักดิ์สิทธิ์นักหนา มีเซียมซีสำหรับคนชอบเสี่ยงด้วย ผมไม่ได้เสี่ยงแต่พี่ยีนส์จัดไปหนึ่ง

หอระฆังที่ร่ำลือกันว่า งามที่สุดในเมืองนนท์

อีกสิ่งที่ไม่ควรพลาดของวัดนี้คือหอระฆัง ที่ถือกันว่างดงามที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งก็ไม่ผิดหวังงามจริงๆ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถนอกกำแพงแก้ว


เสร็จจากวัดนี้ตอนใกล้เที่ยงเลยออกมาหาข้าวกิน ออกจากวัดโพธิ์บางโอเจอร้านก๋วยเตี๋ยวหลอดเลยเลี้ยวเข้าไปตั้งใจว่าจะกิน
แต่ คนขายไม่อยู่ คนในร้านซ่อมรถบอกว่าขับมอไซค์ไปหาข้าวกิน
ช็อคครับบอกเลย เข้าใจว่าหิวตอนเที่ยง เเต่เวลานี้มันเวลาหากินนะครับ คนอื่นเขามาที่ร้านแล้วไม่เจอใครเนี่ย ทำไมไม่กินก๋วยเตี๋ยวหลอดหรือถือว่า ของซื้อของขายไม่กิน
รออยู่สักพักจนทนไม่ไหว เลยไปหาร้านอื่นดีกว่า

แถวๆนี้เสียอย่าง ร้านของกินมีน้อยมาก แต่ก็โชคดีไปเจอร้านของอาหารตามสั่ง เลยเข้าไป ผมสั่งเล็กน้ำตก พี่ยีนส์สั่งกะเพราไข่ดาว
จริงๆตอนดูเมนู มีเนื้อเก้ง หมูป่า เนื้อแปลกๆหลายอย่าง แต่ด้วยความที่อยากทำเวลาไปดูวัดอื่นเลยตัดใจไปก่อน

พอกินเสร็จก็ไปดูวัดขนุน ซึ่งอยู่ร้านที่ไปกินตั้งอยู่หน้าทางเข้าวัด โดยเข้าไปกะจะไปดูหอไตรที่มีทวารบาลที่แม้จะผ่านการซ่อมมาแล้วก็ยังควรดู
แต่ปรากฏว่า เจ้าอาวาสท่านจำวัดอยู่ อดครับ คนในวัดบอกว่าท่านอาพาธเพิ่งไปผ่ากะโหลกมาเลยพักอยู่
เลยชวดฉลูชาลเถาะไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ต่อให้เตรียมหนังสือขออนุญาตมา ถ้าไม่มีคนรับหนังสือก็อดอยู่ดี

จากนั้นเลยเบนเป้าหมายไปวัดซองพลู ที่แรกก็คุยกันหลายวัด แต่ปัญหาคือไม่รู้ที่ตั้ง เลยเอาวัดนี้ที่พี่ยีนส์คุ้นตา แถมบอกว่ามีของน่าดู
บอกเลย ผมไม่เคยยืนชื่อวัดนี้มาเข้าหูแม้แต่ครั้งเดียว จริงๆนะ
วัดซองพลูตามประวัติสร้างในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อไปถึงวัด สิ่งแรกที่ได้รู้คือ พระที่ถือกุญแจไปโรงพยาบาลสงฆ์ จึงไม่สามารถเข้าไปข้างในโบสถ์เก่าได้ ได้แต่ไปดูข้างนอก
แต่เอาวะ มาถึงแล้ว ก็ขอดูข้างนอกหน่อยเถอะ
โบสถ์วัดซองพลู

วินาทีแรกที่เห็น คำพูดแรกที่หลุดมาคือ "โอ้แม้เจ้า" หน้าบันมีลวดลายพระนารายณ์ทรงครุฑที่งดงามมาก
แต่สิ่งอื่นๆที่เห็นแล้วตกใจระคนสลดใจยังมีอีกหลายอย่าง

อย่างแรกคือบานประตูที่เคยมีรูปทวารบาลอยู่ บัดนี้ลบเลือนเหมือนโดนขัดจนหายไป แต่เส้นที่เหลืออยู่บ่งบอกถึงความงดงามแห่งอดีตกาลได้อย่างชัดเจน
ใบหน้าทวารบาลที่เหลืออยู่

อย่างต่อมา ถือเป็นไฮไลท์ของวัดนี้เลยก็ว่าได้ มันคือบานประตูสลักไม้ ที่ช่างสลักได้ลึกและคม งดงามอย่างหาที่ติมิได้ เห็นแล้วยังรู้สึกเสียดายและงงว่า ทำไมไม่เคยได้รู้จักกับสิ่งนี้มาก่อน

ลายวิจิตรบนบานหน้าต่าง

อย่างที่สามคือพระประธาน เนื่องจากโบสถ์ไม่เปิดจึงเข้าไม่ได้ แต่มีหน้าต่างบานหนึ่งแง้มอยู่ จึงถือโอกาสมองดูพระพุทธรูปผ่านหน้าต่าง(จริงๆมีกรงเหล็กที่ทำเป็นรูปเทพพนมด้วยนะ)


มองพระปฏิมาผ่านซี่กรง(ไม่เห็นซี่เพราะเอากล้องลอดช่องเข้าไปถ่าย)

อย่างที่สี่และอย่างสุดท้าย ก็คึอคันทวยซึ่งรองรับชายคาอยู่ พี่ยีนส์เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเป็นคันทยแบบหูช้าง คือทำเป็นแผ่นใหญ่คล้ายหูช้างและสลักลายเป็นรูปนาค วันดีคืนดีวัดมาทำเสาด้านใน(ของเดิมไม่เคยมี) จึงต้องเจาะคันทวยนี้เพื่อเป็นช่องสำหรับบัวหัวเสา
ฟังแล้วก็เศร้าใจ ของเดิมดีๆกลับถูกเปลี่ยนแปลงโดยมือของคนรุ่นหลังโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพราะสิ่งที่สำคัญคือการที่มันเป็นคันทวยหูช้าง ซึ่งนิยมในภาคเหนือ แต่ในภาคกลาง ที่นี่น่าจะเป็นที่เดียวที่พบ
ทวยหูช้างที่ถูกเจาะ

คิดแล้วก็เศร้าใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เก็บภาพและจดจำเรื่องราวเอาไว้เท่านั้น เผื่อวันใดได้มีโอกาสพาคนอื่นมา จะได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อส่งต่อเรื่องราวไปยังคนอื่นๆและคนรุ่นต่อๆไป

แต่จริงๆผมก็เผยแพร่ไปแล้วนะ ผ่านสายตาทุกคู่ทุี่อ่านเรื่องราวข้างต้นนี้ไปแล้วไงล่ะ

วันศุกร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกของวันนี้ : เก็บตกมื้อเที่ยงและมื้อว่างวันนี้

วันนี้ได้มีโอกาสกินข้าวแกงกะหรี่ที่ร้าน CocoIchibanya เป็นครั้งแรก
เนื่องจากไม่รู้จะสั่งอะไร เลยสั่งอันที่มันขึ้นว่า recommend

ข้าวแกงกะหรี่หมูชุดเกล็ดขนมปังทอด ลดข้าวและเผ็ดธรรมดา

ที่มาภาพ : https://blogger.googleusercontent.com/img/b/R29vZ2xl/AVvXsEg7Ct7xPQZoqTXnhzn57o6p5skisHnvPd4_h3SJDlGuvnDOQaa7q4LFKlaS7iECFRYSIEF60jgVn0qkuGhEBMR8W3iVX82NESuec7tasQE9v2K1QMu9ZhAoP5eguViK8SsdGc6QfBeAVbo/s1600/IMG_1231.JPG

ถามถึงรสชาติ บอกตรงๆว่าอร่อยดี ไม่เผ็ดมาก แต่ที่เด็ดกว่าเมนูนี้ ผมยกตำแหน่งพระเอกให้กับเจ้านี่ 
ที่มาภาพ  : http://photo.wongnai.com/photos/2014/03/23/ec83e80e01e94ebc8b56593d777cd829.jpg

ผักดองครับ บอกเลยว่า RECOMMEND!! จริงๆ เพราะอร่อยมาก กินตัดเลี่ยน ตัดเค็ม ตัดเผ็ด ของแกงกะหรี่ได้เป็นอย่างดี แถมยังกินเล่นได้แบบเพลินๆเลย กินเยอะขนาดที่ ต้องขอเขาเติมกันเลยทีเดียว


หลังจากเดินเล่นย่อยสักนิด ก็เดินไปเจอเพื่อนที่นัดไว้ ก่อนไปกินบุฟเฟต์เค้กที่ Sweety Secret ต่อ


เหตุผลแรกที่ตัดสินใจมากินที่นี่เพราะตอนนี้มีโปรโมชั่นลดเหลือ ๑๙๐ บาท(ราคานี้ไม่รวมเครื่องดิ่ม) กินได้ ๑ ชั่วโมง สั่งครั้งแรกได้สองชิ้น หลังจากนั้นได้ครั้งละ ๑ ชิ้น

รสชาติโดยรวมถือว่าอร่อยใช้ได้เลย ชอบหน้าเค้กผลไม้ของที่นี่ ได้กลิ่นกับรสผลไม้ดี ไม่เลี่ยนมาก ช็อกโกแลตที่นี่ก็อร่อย

ชิ้นเดียวที่วันนี้กินแล้วรู้สึกไม่ชอบคือเค้กชาไทย เพราะกินแล้วรู้สึกเหมือนกินเค้กหน้าสังขยาหรือคัสตาร์ด ไม่ได้กลิ่นหอมหรือรสชาไทยเท่าไหร่

แต่เสียดายอย่างหนึ่งคือเค้กส่วนใหญ่เหมือนกันหมดคือมีเนื้อเค้กกับครีมที่หนาพอควร ต่างกันแค่หน้าข้างบนเท่านั้น แต่ภาพรวมก็ถือว่ายังอร่อยอยู่ แต่ถ้าครีมบางกว่านี้อีกหน่อยน่าจะเลี่ยนน้อยลง

เอาบางส่วนมาให้ดูกันคับ


ช็อคลาวา อันนี้โดนมากๆ มาพร้อมวิปครีมและไอติม

เค้กกีวีและโยเกิร์ตส้ม หน้าเค้กอร่อยออกเปรี้ยวๆ


เค้กมะพร้าว ทั้งหน้าทั้งครีมมีกลิ่นและรสมะพร้าวมาเต็ม อีกอันเป็นเบอรรี่สแปลช(ถ้าจำชื่อไม่ผิดด) หน้าเป็นวุ้นๆ ข้างในเป็นครีมผลไม้ ด้านล่างเป็นช็อก มีไส้เป็นสตรอเบอรี่ ตัดกันดี


บลูเบอรี่ชีสเค้ก ชิ้นเล็กพอดีกิน อร่อยใช้ได้
ซากอารยธรรมหลังสังเวยหมด


โดยภาพรวมวันนี้ถือว่าค่อนข้างฟินกับสองร้านที่ไปกิน แต่ก็ทำให้รู้ว่า บางครั้ง ของที่อร่อย ไม่จำเป็นต้องเป็นเมนูเด็ดของแต่ละร้าน หรือเมนูที่ใครๆก็บอกว่าต้องลอง อร่อย เพราะสุดท้ายล้ว คนที่จะตัดสินว่าอร่อยไม่อร่อยก็คือ คนกิน หรือก็คือตัวเราเอง 

เหมือนผมที่รู้สึกว่าผักดองอร่อยกว่าข้าวแกงกะหรี่นั่นเอง

วันพฤหัสบดีที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกย้อนหลัง ว่าด้วยนิ้วกลม

สมัยก่อน

ถ้ามีคนถามว่ารู้จัก "นิ้วกลม"
คำตอบก็คือ "รู้จัก"
แต่ถ้าถามกลับว่า "เคยอ่านงานของนิ้วกลมไหม"
บอกตรงๆว่า "ไม่"

โดยส่วนตัวเป็นคนอ่านหนังสือแค่บางประเภทที่ชอบ เช่นหนังสือประวัติศาสตร์ หนังสือประวัติศาสตร์ศิลปะ หนังสือการ์ตูน หนังสือนิยาย
งานแนวของนิ้วกลมดูเป็นอะไรที่ไม่ใช่แนวที่คิดว่าจะอ่านเท่าไหร่

วันนึงมีคนเอาหนังสือเล่มนึงของนิ้วกลมมาให้อ่าน มันมีชื่อว่า "head"


ความรู้สึกแรกตอนเห็นปกคือ แปลกดีนะ ชื่อแปลว่าหัว แต่รูปดันเป็นต้นไม้ซะอย่างนั้น 

เราก็รับมาอ่าน พอลองเปิดดู หน้าแรกก็รู้สึกเฉยๆ แต่พออ่านไปสักพัก สิ่งที่ตามมาคือวางไม่ได้ รู้สึกเพลิดเพลินกับตัวหนังสือที่คนๆนี้เขียน

ข้อความไม่ได้ยาวมากมาย เข้าใจได้ง่าย แต่มีความหมาย ความหมายลึกๆที่กินใจ ความหมายที่เข้ามาเติมเต็มบางอย่างที่หายไปจากตัวเรา

ยิ่งเมื่อเราดันทำหนังสือเล่มนี้(ที่ยืมเขามา)ยับ เลยตัดสินใจซื้อเล่มใหม่ไปคืน และเก็บเล่มนี้เอาไว้

แม้ตอนนี้มันจะยังกองรวมกับหนังสือที่เพิ่งซื้อมาจากงานหนังสือ(ซึ่งยังไม่ได้จัด) แต่ก็คิดว่าจะหาเวลาหยิบมันมาอ่านอีกครั้งนึง

เพื่อปลุกอะไรบางอย่างในตัวขึ้นมา