วันเสาร์ที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

บันทึกย้อนหลัง ๒ วัน : สำรวจวัดนนท์-กทม. ภาค ๑ สำรวจเมืองนนท์

สองวันก่อน(วันที่ ๒๐ พ.ย.)
ได้ไปสำรวจวัดเพื่อเตรียมสำหรับจัดทริปผนังเก่าเล่าเรื่องกับพี่ยีนส์ เจ้าของทริป

หลังจากไปรวมตัวกับพี่ยีนส์แล้ว เราก็ออกรถไปวัดโพธิ์บางโอ ซึ่งตั้งอยู่ที่นนทบุรี
วัดแห่งนี้ตามประวัติระบุว่าเป็นวัดสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย แต่มีการบูรณะครั้งสำคัญในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยกรมหลวงเสนีย์บริรักษ์ ดังนั้นลักษณะศิลปกรรมส่วนใหญ่ในวัดจึงอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๓

อุโบสถวัดโพธิ์บางโอ


พอไปถึงก็แวะไปหาท่านเจ้าอาวาสเพื่อขอเข้าไปชมในอุโบสถ
ต้องบอกก่อนว่า การเที่ยวชมวัดที่ยังมีการใช้งาน คือไม่ใช่วัดร้าง จะมีปัญหาที่ส่วนใหญ่น่าจะเจอกันคือ เข้าไปดูข้างในไม่ได้เพราะปิด เลยต้องไปขอกุญแจจากพระ ซึ่งจะได้เข้าไม่ได้เข้าก็มีปัจจัยเยอะแยะ ไม่ว่าจะเป็น
พระที่ถือกุญแจไม่อยู่(เจอประจำ)
ทำหนังสือมารึเปล่า(เจอประปราย มักเป็นกับวัดใหญ่หรือวัดดัง)
พระท่านจำวัดอยู่(เจอได้พอสมควรในกรณีที่ไปหลังเพล)
ข้างในมันรกยังไม่ได้จัด(เจอในกรณีหลังจัดงาน เช่น สวดมนต์ข้ามปี หรือ วิหารเก่าที่ไม่ได้ใช้แล้ว)
หาพระไม่เจอ(อันนี้จะเซ็งมาก หาใครไม่เจอ)

แต่มาครั้งนี้ไม่มีปัญหา เพราะพี่ยีนส์มีหนังสือทำเรื่องมา แต่ก็ต้องหาพระกันเหมือนกัน เพราะเจ้าอาวาสไม่อยู่ เลยต้องไปหาพระที่ถือกุญแจอีกดอก ซึ่งเดินเลยไปด้วยเพราะท่านจำวัดอยู่(มีพระไปช่วยหาด้วย ท่านบอกหมาที่นี่มันดุ แต่ก็ไม่เจอเห่านะ)
กรณีของวัดนี้ดีมากในความรู้สึกผม คือ มีพระถือกุญแจมากกว่า ๑ รูป
คือก็เข้าใจว่าท่านกลัวของหาย แต่มันจะลำบากพวกคนที่มาศึกษาเวลามาเจอกรณีพระที่ถือกุญแจไม่อยู่

พอท่านมาเปิด ท่านก็บอกว่าเสร็จแล้วก็ปิดไฟปิดประตูด้วย แล้วเราก็เข้าไป
ภายในอุโบสถ 

การมาที่วัดแห่งนี้ในครั้งนี้ นอกจากจะมาเพื่อเซอเวย์สถานที่แล้ว ผมยังมีจุดประสงค์ส่วนตัว คือการมาถ่ายรูปภาพจับบนบี้านประตูหน้าต่างที่วัดแห่งนี้ด้วย
ภาพจับ มีความหมายถึงภาพตัวละครสองตัวในท่ารบ โดยเป็นตัวละครจากเรื่องรามเกียรติ์แทบทั้งสิ้น โดยจะอยู่ในท่านาฏลักษณ์ คือท่าที่ใช้ในการแสดงโขน(ฉากเช่นนี้ยังสามารถพบเห็นได้ในการแสดงโขนในฉากรบเช่นกัน)
ภาพจับนี้ ส่วนใหญ่จะพบบนหนังใหญ่ ในขณะที่ตามวัดวาอาราม พบไม่มาก และมักจะประดับไว้ตามบานประตูหน้าต่าง บานแผละ(ผนังด้านใน จะเห็นก็ต่อเมื่อปิดหน้าต่าง) และที่วัดแห่งนี้ก็มีเช่นกัน
บานหน้าต่างแสดงภาพจับ จะเห็นหนุมานกำลังรบกันยักษ์ และพระลักษณ์รบกับยักษ์(เรียกยักษ์เพราะไม่รู้ชื่อจริงๆ ใส่ผิดเดี๋ยวจะโดนว่า เลยใส่ว่าเป็นยักษ์ไปละกัน)

ฝาผนังของวัดนี้ที่ผนังด้านหลังพระประธานเขียนเรื่องพระมาลัยและพุทธประวัติ(ถ่ายยากมาก เลยไม่ได้ลงให้ชม) ส่วนผนังด้านหน้าเขียนพุทธประวัติ ผนังด้านซ้ายและขวาของพระประธานเขียนภาพปริศนาธรรม ซึ่งเป็นหลักฐานของภาพปริศนาธรรมที่เก่าแก่ก่อนสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยแสดงภาพง่ายๆตรงไปตรงมา มีการระบุจารึกไว้ใต้ภาพบางส่วนด้วย เลยดูได้ไม่ยาก
แต่บางส่วนก็ยาก เพราะใช้คำศัพท์พุทธที่ไม่คุ้นหูคุ้นตา 

พระพุทธเจ้ากับรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี เห็นมณฑปบนภูเขาในจิตรกรรมสามารถคิดไปก่อนได้เลยว่าเป็นที่นี่

ภาพปริศนาธรรม สตรีกำลังวิ่งหนี โลโภ โทโส โมโห(เขียนกันง่ายๆแบบนี้แหละครับ)
จริงๆ มีภาพอื่น แต่อันนี้ดูง่ายดีเลยเอามาให้ดู บางภาพมีจารึกเหมือนจะหมายถึงระดับฌาน ซึ่งไม่เข้าใจจริงๆ

ผนังเหนือช่องหน้าต่างประตูเขียนลายดอกไม้ร่วง ซึ่งหมายถึงดอกมณฑารพ ดอกไม้สวรรค์ที๋โปรยปรายในวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ส่วนบริเวณเหนือขึ้นไปชิดกับหลังคามีภาพนักสิทธิ์ วิทยาธร หรือเทวดาชั้นรองๆ กำลังเหาะมานมัสการพระพุทธเจ้า บางภาพก็เหมือนจะสู้กัน ดูตลกดี 
วิธีดูภาพด้านบนมีสองวิธี หนึ่งใช้กล้องพลังสูงซูมดู สองใช้กล้องส่องทางไกลดู(อย่าคิดว่ากล้องส่องทางไกลจะไม่จำเป็นในการดูจิตรกรรมนะครัช ภาพบางภาพมันสูงเอาโล่ไปเลย)

ผนังเหนือช่องประตูหน้งต่างเขียนดอกมณฑารพ นักสิทธิ์ที่ว่าอยู่บนแถบสีขาวด้านบน(ไม่เห็นล่ะสิ เพราะผมไม่ได้ซูมมาไงล่ะ อิอิ)
ข้างล่างจะเห็นกรอบภาพสองกรอบ กรอบล่างที่เป็นสีขาว เพราะภาพจริงไหม้ไปหมดแล้ว ส่วนกรอบบนเป็นภาพสุดท้ายที่ยังเหลืออยู่

จิตรกรรมที่นี่เคยผ่านมรสุมชีวิตมาครั้งนึง เพราะเคยมีไฟไหม้ใหญ่ไปครั้งหนึ่ง  ทำให้ภาพได้รับความเสียหายอย่างร้ายกาจ บางภาพถึงกับดูรายละเอียดไม่ออกเลย
ที่น่าเสียดายกว่าคือ พี่ียีน์ส์เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเคยมีภาพหลังกระจก คือภาพที่เขียนหลังกระจกแผ่นหนึ่งแล้วเอากระจกอีกแผ่นมาติดก่อนนำไปใส่กรอบ ซึ่งที่นี่เคยมีภาพที่ได้รับการกล่าวขานว่าเป็น "โมนาลิซาเมืองไทย" แต่ปัจจุบันได้ไหม้ไปหมดแล้ว โชคดีที่พี่ยีนส์ได้เคยถ่ายไว้ และได้ขยายไปใส่กรอบมาถวายวัดด้วย น่ายินดีจริงๆ

บานหน้าต่างด้านนอก มีลายรดน้ำซึ่งลบเลือนไปตามกาล


พระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ เขาว่าศักดิ์สิทธิ์หนักหนา

ออกจากอุโบสถก็มาดูข้างนอกบ้าง ประตูหน้าต่างส่วนใหญ่ผ่านการบูรณะไปแล้ว(ที่นี่ถูกดีดขึ้น) เหลือของเดิมอยู่ไม่เท่าไหร่ แถมที่เหลือก็ยังลบเลือนอย่างมาก จึงบันทึกภาพไว้เป็นหลักฐาน
และนอกโบสถ์ยังมีพระพุทธรูปปางป่าเลไลยก์ที่ว่ากันว่า ศักดิ์สิทธิ์นักหนา มีเซียมซีสำหรับคนชอบเสี่ยงด้วย ผมไม่ได้เสี่ยงแต่พี่ยีนส์จัดไปหนึ่ง

หอระฆังที่ร่ำลือกันว่า งามที่สุดในเมืองนนท์

อีกสิ่งที่ไม่ควรพลาดของวัดนี้คือหอระฆัง ที่ถือกันว่างดงามที่สุดในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งก็ไม่ผิดหวังงามจริงๆ ตั้งอยู่หน้าอุโบสถนอกกำแพงแก้ว


เสร็จจากวัดนี้ตอนใกล้เที่ยงเลยออกมาหาข้าวกิน ออกจากวัดโพธิ์บางโอเจอร้านก๋วยเตี๋ยวหลอดเลยเลี้ยวเข้าไปตั้งใจว่าจะกิน
แต่ คนขายไม่อยู่ คนในร้านซ่อมรถบอกว่าขับมอไซค์ไปหาข้าวกิน
ช็อคครับบอกเลย เข้าใจว่าหิวตอนเที่ยง เเต่เวลานี้มันเวลาหากินนะครับ คนอื่นเขามาที่ร้านแล้วไม่เจอใครเนี่ย ทำไมไม่กินก๋วยเตี๋ยวหลอดหรือถือว่า ของซื้อของขายไม่กิน
รออยู่สักพักจนทนไม่ไหว เลยไปหาร้านอื่นดีกว่า

แถวๆนี้เสียอย่าง ร้านของกินมีน้อยมาก แต่ก็โชคดีไปเจอร้านของอาหารตามสั่ง เลยเข้าไป ผมสั่งเล็กน้ำตก พี่ยีนส์สั่งกะเพราไข่ดาว
จริงๆตอนดูเมนู มีเนื้อเก้ง หมูป่า เนื้อแปลกๆหลายอย่าง แต่ด้วยความที่อยากทำเวลาไปดูวัดอื่นเลยตัดใจไปก่อน

พอกินเสร็จก็ไปดูวัดขนุน ซึ่งอยู่ร้านที่ไปกินตั้งอยู่หน้าทางเข้าวัด โดยเข้าไปกะจะไปดูหอไตรที่มีทวารบาลที่แม้จะผ่านการซ่อมมาแล้วก็ยังควรดู
แต่ปรากฏว่า เจ้าอาวาสท่านจำวัดอยู่ อดครับ คนในวัดบอกว่าท่านอาพาธเพิ่งไปผ่ากะโหลกมาเลยพักอยู่
เลยชวดฉลูชาลเถาะไป
นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า ต่อให้เตรียมหนังสือขออนุญาตมา ถ้าไม่มีคนรับหนังสือก็อดอยู่ดี

จากนั้นเลยเบนเป้าหมายไปวัดซองพลู ที่แรกก็คุยกันหลายวัด แต่ปัญหาคือไม่รู้ที่ตั้ง เลยเอาวัดนี้ที่พี่ยีนส์คุ้นตา แถมบอกว่ามีของน่าดู
บอกเลย ผมไม่เคยยืนชื่อวัดนี้มาเข้าหูแม้แต่ครั้งเดียว จริงๆนะ
วัดซองพลูตามประวัติสร้างในช่วงสมัยอยุธยาตอนปลาย และมีการบูรณะในสมัยรัตนโกสินทร์

เมื่อไปถึงวัด สิ่งแรกที่ได้รู้คือ พระที่ถือกุญแจไปโรงพยาบาลสงฆ์ จึงไม่สามารถเข้าไปข้างในโบสถ์เก่าได้ ได้แต่ไปดูข้างนอก
แต่เอาวะ มาถึงแล้ว ก็ขอดูข้างนอกหน่อยเถอะ
โบสถ์วัดซองพลู

วินาทีแรกที่เห็น คำพูดแรกที่หลุดมาคือ "โอ้แม้เจ้า" หน้าบันมีลวดลายพระนารายณ์ทรงครุฑที่งดงามมาก
แต่สิ่งอื่นๆที่เห็นแล้วตกใจระคนสลดใจยังมีอีกหลายอย่าง

อย่างแรกคือบานประตูที่เคยมีรูปทวารบาลอยู่ บัดนี้ลบเลือนเหมือนโดนขัดจนหายไป แต่เส้นที่เหลืออยู่บ่งบอกถึงความงดงามแห่งอดีตกาลได้อย่างชัดเจน
ใบหน้าทวารบาลที่เหลืออยู่

อย่างต่อมา ถือเป็นไฮไลท์ของวัดนี้เลยก็ว่าได้ มันคือบานประตูสลักไม้ ที่ช่างสลักได้ลึกและคม งดงามอย่างหาที่ติมิได้ เห็นแล้วยังรู้สึกเสียดายและงงว่า ทำไมไม่เคยได้รู้จักกับสิ่งนี้มาก่อน

ลายวิจิตรบนบานหน้าต่าง

อย่างที่สามคือพระประธาน เนื่องจากโบสถ์ไม่เปิดจึงเข้าไม่ได้ แต่มีหน้าต่างบานหนึ่งแง้มอยู่ จึงถือโอกาสมองดูพระพุทธรูปผ่านหน้าต่าง(จริงๆมีกรงเหล็กที่ทำเป็นรูปเทพพนมด้วยนะ)


มองพระปฏิมาผ่านซี่กรง(ไม่เห็นซี่เพราะเอากล้องลอดช่องเข้าไปถ่าย)

อย่างที่สี่และอย่างสุดท้าย ก็คึอคันทวยซึ่งรองรับชายคาอยู่ พี่ยีนส์เล่าให้ฟังว่า แต่เดิมเป็นคันทยแบบหูช้าง คือทำเป็นแผ่นใหญ่คล้ายหูช้างและสลักลายเป็นรูปนาค วันดีคืนดีวัดมาทำเสาด้านใน(ของเดิมไม่เคยมี) จึงต้องเจาะคันทวยนี้เพื่อเป็นช่องสำหรับบัวหัวเสา
ฟังแล้วก็เศร้าใจ ของเดิมดีๆกลับถูกเปลี่ยนแปลงโดยมือของคนรุ่นหลังโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์
เพราะสิ่งที่สำคัญคือการที่มันเป็นคันทวยหูช้าง ซึ่งนิยมในภาคเหนือ แต่ในภาคกลาง ที่นี่น่าจะเป็นที่เดียวที่พบ
ทวยหูช้างที่ถูกเจาะ

คิดแล้วก็เศร้าใจ แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ ได้แต่เก็บภาพและจดจำเรื่องราวเอาไว้เท่านั้น เผื่อวันใดได้มีโอกาสพาคนอื่นมา จะได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ เพื่อส่งต่อเรื่องราวไปยังคนอื่นๆและคนรุ่นต่อๆไป

แต่จริงๆผมก็เผยแพร่ไปแล้วนะ ผ่านสายตาทุกคู่ทุี่อ่านเรื่องราวข้างต้นนี้ไปแล้วไงล่ะ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น